"ระเบิดสุญญากาศ" vacuum bomb ที่ใช้โจมตีชาวยูเครน ทั้งที่อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงทำงานอย่างไร


 

ระเบิดสุญญากาศ (vacuum bomb) ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ระเบิดแอโรซอล" (aerosol bomb) หรือระเบิดละอองลอย เนื่องจากมีวัตถุระเบิดเป็นอนุภาคของแข็งหรือของเหลวที่ฟุ้งกระจายอยู่ในก๊าซ ดูแล้วคล้ายกับหมอกควันเมื่อถูกปลดปล่อยออกมาจากภาชนะบรรจุ


ระเบิดสุญญากาศจะมีชนวนระเบิดแยกกันเป็นสองส่วน เมื่อถูกยิงออกไปจากเครื่องยิงจรวดหรือถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินแล้ว ขณะที่โดนเป้าหมายจะเกิดการระเบิดเบา ๆ เป็นครั้งแรก เพื่อปลดปล่อยละลองลอยที่เป็นวัตถุระเบิดออกมา

กลุ่มหมอกควันนี้จะแพร่กระจายตัวไปในวงกว้าง รวมทั้งเข้าไปในตัวอาคาร บังเกอร์ หรือซอกหลืบที่ไม่ได้ปิดสนิท จากนั้นจะมีการจุดชนวนระเบิดครั้งที่สอง ทำให้เกิดคลื่นกระแทกรุนแรงและละอองลอยติดไฟลุกไหม้ โดยมันจะดูดเอาออกซิเจนรอบข้างเข้าไปจนเกิดภาวะสุญญากาศและความร้อนมหาศาล สามารถทำลายอาคารที่มีการเสริมความแข็งแกร่ง รวมทั้งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลได้

ระเบิดที่มีพลังทำลายล้างน่ากลัวเช่นนี้ ถูกนำไปใช้ในปฏิบัติทางทหารหลายรูปแบบด้วยหลายวัตถุประสงค์ ระเบิดสุญญากาศยังถูกออกแบบให้มีหลายขนาด ตั้งแต่เป็นระเบิดมือไปจนถึงอาวุธที่ใช้กับเครื่องยิงระเบิดแบบประทับบ่า

ส่วนระเบิดสุญญากาศที่มีขนาดใหญ่ซึ่งใช้ในการโจมตีทางอากาศนั้น จัดว่ามีความรุนแรงสูงสุดกับเป้าหมายซึ่งอยู่ในที่แคบหรือที่ปิดเช่นถ้ำหรืออุโมงค์ โดยเมื่อปี 2007 รัสเซียเคยทดสอบ "โคตรพ่อแห่งระเบิด" ซึ่งมีความรุนแรงเท่ากับระเบิดธรรมดา 44 ตันมาแล้ว ทั้งยังเป็นระเบิดที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกด้วย

ความสามารถในการเข้าทำลายศัตรูในตัวอาคารหรือที่ปิดแคบ ทำให้ในปัจจุบันยังคงนิยมใช้ระเบิดสุญญากาศกับการสู้รบในตัวเมืองกันอยู่ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะใช้ระเบิดชนิดนี้ในการบุกยึดกรุงเคียฟ รวมทั้งเมืองใหญ่หลายแห่งทางตะวันออกของยูเครน


ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ารัสเซียได้ใช้ระเบิดสุญญากาศไปแล้ว หรือมีแผนจะใช้มันในการสู้รบกับชาวยูเครนในอนาคต แต่มีรายงานผู้พบเห็นเครื่องยิงอาวุธเทอร์โมบาร์ริกของรัสเซียในยูเครน และที่เมืองเบลโกรอดของรัสเซียซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับชายแดนยูเครน

แม้จะไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศข้อใดห้ามการใช้ระเบิดสุญญากาศโดยตรง แต่หากรัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้โจมตีพลเรือนจริง ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกปี 1899 และ 1907 ซึ่งห้ามการมุ่งเป้าโจมตีพลเรือนในเขตที่อยู่อาศัย โรงเรียน หรือโรงพยาบาล

อันที่จริงแล้วเริ่มมีการใช้ระเบิดสุญญากาศกันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยกองทัพเยอรมันเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์ขึ้นใช้ก่อน แต่ยังไม่มีการพัฒนาอาวุธชนิดนี้อย่างกว้างขวางมากนัก จนกระทั่งสหรัฐฯ นำมาใช้ในสงครามเวียดนามช่วงทศวรรษ 1960

สหรัฐฯ ยังใช้ระเบิดสุญญากาศในช่วงปี 2001 เพื่อทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มอัลไคดาในเทือกเขาโทราโบราของอัฟกานิสถาน ส่วนรัสเซียเคยใช้ระเบิดสุญญากาศในการทำสงครามที่เชชเนีย เมื่อปี 1999 ทำให้ถูกกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนประณามอย่างหนัก

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ระเบิดสุญญากาศที่รัสเซียผลิตถูกกองกำลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ใช้ทำร้ายพลเรือนในสงครามกลางเมืองของซีเรียด้วย

ข้อมูลจาก BBC ์ NEWS

Noppadol Srisakote

อดีตช่างภาพสนาม หรือ "Combat Camera" ที่มีความสนใจเรื่องราวของเทคโนโลยี ข่าวสาร ด้านการทหาร การป้องกันประเทศ และข่าวการรับสมัครสอบทหาร ตำรวจ ผมจะพยายามค้นคว้าหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอทุกคน ขอขอบคุณทุกการติดตามครับ

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ