พลสารวัตร อัตราพลอาสาสมัคร คืออะไรเป็นข้าราชการไหม ความก้าวหน้าละหาคำตอบได้ที่นี่

ขอบคุณ ภาพจากเพ็จกองพันทหารสารวัตร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
จากข่าวสมัครสอบเข้ารับราชการทหารน้องคงได้เห็นตำแหน่ง พลสารวัตร อัตราพลอาสาสมัคร หลายๆคนที่ไม่ได้เคยสมผัสวงการนี้มาก่อนอาจไม่เข้าใจเรามาทำความเข้าใจกันเลยครับ

พลอาสาสมัคร คือ ข้าราชการทหารที่ได้รับการบรรจุในอัตราพลอาสาสมัคร รับเงินเดือนระดับ พ.2
พลอาสาสมัคร ไม่ได้เป็นอาสาสมัครแบบ ตำรวจบ้าน หรือ อปพร. แต่เป็น "ข้าราชการกลาโหมประจำการ" ที่ต้องสอบเข้ามาเป็นและเมื่อสอบได้แล้วต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามระเบียบกองทัพ และรับราชการได้จนถึงเกษียณอายุ 60 ปี (ชื่ออาสาสมัครแต่จริงๆไม่ใช่อาสาสมัคร)

สวัสดิการ 
เบิกได้ทุกอย่างเหมือนทหารยศสิบเอก มีเงินเดือนประจำ มีบ้านพักสวัสดิการ พ่อ,แม่,ลูก,ภรรยา เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ค่าเล่าเรียนบุตรเบิกได้ เกษียณมีบำเหน็จ บำนาญ ค่าโดยสารรถ บขส. รถไฟ ลดครึ่งราคา และ ฯลฯ

ความก้าวหน้า 
สามารถเลื่อนยศเป็นนายสิบ จ่า นายทหารได้ ,สามารถเข้าเรียนหลักสูตรกระโดดร่ม(ส่งทางอากาศ),และหลักสูตรการรบแบบจู่โจมได้
หน่วยที่ยังมีอัตราพลอาสาสมัครในปัจจุบัน = สห.(สารวัตรทหาร) , ดย.(ทหารดุริยางค์) , ร.1 พัน.4 รอ. (กรมทหารราบที่ 1 ฯ) , ทม.รอ.(หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย แต่ตอนนี้ปิดการรับสมัครอยู่นะครับแจ้ง ณ มิ.ย.2562 ) , พัน.สท.(กองพันสุนัขทหาร) , บก.ทท.(กองบัญชาการกองทัพไทย) , สป.กห.(สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) เป็นต้น
ทุกหน่วยข้างต้นเปิดสอบบรรจุทุกปี

สรุปพลอาสาสมัคร คือ ข้าราชการทหารประจำการ ไม่ใช่ทหารเกณฑ์ หรือ อาสาสมัคร”

ข้อมูลจาก เพจกองพันทหารสารวัตร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ขอบคุณ ภาพจากเพ็จกองพันทหารสารวัตร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

อำนาจและหน้าที่ของสารวัตรทหารตามที่กำนดไว้ในข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.2519

ข้อ 3. ในข้อบังคับนี้
 3.1 คำว่า " ทหารสารวัตร " หมายถึงทหารเหล่าทหารสารวัตรที่บรรจุในอัตรากำลัง ของหน่วยต่าง ๆ
 3.2 คำว่า " สารวัตรทหาร " หมายถึงทหารสารวัตรหรือทหารเหล่าอื่นหรือพรรคอื่น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สารวัตรทหารตามคำสั่งของผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหาร
 3.3 คำว่า " ผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหาร " หมายถึงผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร ที่มีทหารสารวัตรอยู่ในบังคับบัญชา หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดสารวัตรทหารตามที่เหล่าทัพกำหนด ในกรณีไม่มีทหารสารวัตรอยู่ในบังคับบัญชา เป็นผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารได้ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือตามอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือแบบธรรมเนียมของทหาร

 ข้อ 4. สารวัตรทหารให้จัดจากทหารสารวัตร ในกรณีไม่มีทหารสารวัตรบรรจุอยู่ในอัตรากำลัง ของหน่วยหรือในเหล่าทัพใด ให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดสารวัตรทหารตามที่เหล่าทัพกำหนด จัดทหารเหล่าอื่นหรือพรรคอื่นเป็นสารวัตรทหารได้

 ข้อ 5. การแต่งกายของสารวัตรทหารในขณะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และแบบธรรมเนียมของทหารที่ว่าด้วยการนั้น 

ข้อ 6. เพื่อให้การรักษาระเบียบวินัยดำเนินการไปโดยเคร่งครัดรวมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ให้สารวัตรทหารมีหน้าที่ดังนี้
 6.1 สอดส่องตรวจตราให้ทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม อยู่ในระเบียบวินัยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
 6.2 ว่ากล่าว ตักเตือน และจับกุม ทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่กระทำผิด
 6.3 สืบสวนสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร
 6.4 ควบคุมการจราจรในกิจการทหาร
 6.5 รักษาความปลอดภัยทางวัตถุและอารักขาบุคคลสำคัญ
 6.6 ปฏิบัติการเกี่ยวกับการเรือนจำทหาร และเชลยศึก ทหารพลัดหน่วย พลเรือนผู้ถูกกักกันในยามสงคราม ตามที่กฎหมาย กฎ ข้อบังคับกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
 6.7 กำหนดมาตรการป้องกันอาชญากรรมในวงการทหาร
 6.8 หน้าที่อื่นตามที่กระทรวงกลาโหมหรือผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารจะกำหนด

 ข้อ 7. สารวัตรทหารมีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารได้ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

 ข้อ 8. สารวัตรทหาร มีอำนาจที่จะปฏิบัติต่อ ทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ผู้ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีซึ่งอยู่ภายนอกที่ตั้งหน่วยทหารหรือสถานที่ทำงานตามควรแก่กรณีดังนี้
 8.1 ว่ากล่าวตักเตือน
 8.2 จับกุม
 8.3 ตรวจค้นผู้ถูกจับกุมเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของที่ผิดกฎหมายหรือเพื่อใช้ในการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าผู้ถูกจับกุมเป็นหญิงให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น
 8.4 ยึดสิ่งของตาม 8.3 หรือสิงของที่อาจเป็นภัยอันตรายหรือที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในการกระทำผิดนั้นได้

ข้อ 12. สารวัตรทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ ต่อบุคคลอื่นนอกจากทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมซึ่งกระทำความผิด เว้นแต่จะได้รับการร้องขอจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ร่าวมือด้วยในเหตุผลอันสมควร หรือเป็นการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อมูลจาก ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.2519
ขอบคุณภาพจากเพจ สารวัตรทหารอากาศหญิง

ความก้าวหน้าในการรับราชการ
เป็นที่น่าแปลกใจว่ากำลังพล เหล่า สห.บางนายหรือหลายๆ นาย ยังไม่สามารถระบุความแตกต่างของ อำนาจหน้าที่ ระหว่าง ทหารสารวัตรและสารวัตรทหาร แต่กลับยึดถืออำนาจหน้าที่ของสารวัตรทหารไว้ตลอดเวลา (แม้แต่ในยามที่แต่งกายชุดพลเรือน นอกเวลาราชการหรือในที่สาธารณะ) ทำให้บางกรณีก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ตัวของกำลังพลเองซึ่งมีอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจาก บทบาทของสารวัตรทหารนั้นเปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่เป็นผู้รักษากฎหมายฝ่ายทหาร จึงมีอำนาจจำกัดอยู่เฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดขอบเขตไว้เท่านั้น การกระทำใดๆ ที่เป็นไปด้วยความสำคัญผิด หรือคิดว่า.... จึงเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากกำลังพลขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงบทบาทของตนเองในสองสถานะ คือ ทหารสารวัตร และ สารวัตรทหาร 

แต่ใน ข้อ 6.8 ของข้อบังคับฯ ดังกล่าวได้เปิดช่องว่างไว้ให้เป็นดุลยพินิจของผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารที่จะใช้อำนาจของตนสั่งการให้สารวัตรทหารปฏิบัติภารกิจบางอย่างที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฯ (ส่วนจะเป็นเรื่องถูกต้อง เหมาะสม และสมควรหรือไม่? นั่นเป็นอีกเรื่องที่จำเป็นต้องปล่อยให้อยู่ในดุยพินิจของผู้รับปฏิบัติที่จะต้องไปตัดสินใจเอาเองบ้าง) ดังนั้น แน่ใจได้ว่าหน้าที่ของสารวัตรทหารใน 7 ข้อแรก ตั้งแต่ 6.1 ถึง 6.7 จึงเป็นภารกิจหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับฯ โดยสมบูรณ์และผู้ปฏิบัติย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นหลักฐานชัดเจน


พอดีมีเหตุที่จะต้องขอกล่าวถึงสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวของความก้าวหน้าในชีวิตรับราชการ โดยเฉพาะของกำลังพล เหล่า สห. เนื่องจากมีข้อแตกต่างจากเหล่าอื่นอยู่หลายประการซึ่งนับว่าเป็นข้อด้อยที่มีมานานตั้งแต่บรรพกาลแล้วและจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีความเท่าเทียมกันกับเหล่าอื่นๆ บ้างไม่มากก็น้อย นั่นก็คือ การเลื่อนฐานะจากพลอาสาสมัครขึ้นเป็นนายสิบประจำการ แม้จะจำได้ลางๆ ถึงระเบียบ ทบ.ที่กำหนดไว้ว่า พลสารวัตร อัตราพลอาสาสมัคร สามารถเลื่อนฐานะเป็นนายสิบประจำการได้เมื่อรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี(ไม่ทราบว่าป่านนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือยัง) ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมีการปฏิบัติได้จริงเฉพาะในบางหน่วยเท่านั้น แต่ส่วนมากกว่าจะได้รับการพิจารณาให้เลื่อนฐานะเป็นนายสิบประจำการจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8-10 ปีหรืออาจจะนานกว่านั้น 

ขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกัน คุณวุฒิ ม.6 เท่ากัน แต่สมัครเข้ารับราชการในตำแหน่ง เสมียน พลขับ หรือตำแหน่งอื่นๆ นั้นเมื่อบรรจุเข้ารับราชการจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น สิบตรี ในทันที เพราะฉะนั้นกว่า พลอาสาสมัคร จาก สห.จะได้เป็น สิบตรีบ้าง เพื่อนก็เลื่อนยศเป็น จ่า ไปแล้ว บางคนก็มีโอกาสได้เข้าสอบเลื่อนฐานะเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรไปแล้วด้วยซ้ำ นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ทั้งๆ ที่ภารกิจของ เหล่า สห.ก็มากกว่า กำลังพลก็น้อยกว่า วันหยุดก็น้อยกว่าหรือแทบจะไม่มีเอาเสียเลยในบางหน่วย ส่วนเหตุผลนั้นคงเนื่องมาจาก สห.ทบ.ต้องรอโควต้าที่ได้รับแบ่งมาจาก ทบ.และต้องนำมาจัดสรรให้กับหน่วย สห.ทั่วประเทศ ซึ่งกว่าจะถึงหน่วยในต่างจังหวัดก็หลุดรอดมา 2-3 ปีได้ 1 นายทำให้บางหน่วยมีพลอาสาสมัครที่อาวุโสมากมายเพราะอายุราชการไม่ต่ำกว่า 5 ปีทั้งนั้น สูงสุดบางคนเข้าปีที่ 12-15 แล้วก็มี
บทความจาก โลกสารวัตรทหาร https://mp2499.blogspot.com

Noppadol Srisakote

อดีตช่างภาพสนาม หรือ "Combat Camera" ที่มีความสนใจเรื่องราวของเทคโนโลยี ข่าวสาร ด้านการทหาร การป้องกันประเทศ และข่าวการรับสมัครสอบทหาร ตำรวจ ผมจะพยายามค้นคว้าหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอทุกคน ขอขอบคุณทุกการติดตามครับ

ใหม่กว่า เก่ากว่า

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ