กรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา รุ่นที่ 26 รอบ 2

กรมอุตุนิยมวิทยา มีความประสงค์จะรับสมัครสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา สังกัดกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้
 
1. ประเภทบุคคลที่รับสมัคร (สมัครได้หลายประเภทตามคุณสมบัติของผู้สมัคร)
1.1 บุคคลทั่วไป จำนวน 39 คน
1.2 บุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุรกันดาร หรือเสี่ยงภัย จำนวน 1 คน (อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง หรืออำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่)


2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ
2.1 ผู้สมัครสอบตามข้อ (1.1) ต้องเป็นชายหรือหญิง อายุระหว่าง 17-22 ปีบริบูรณ์(นับถึงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นวันปิดรับสมัครสอบ) มีร่างกายสมบูรณ์ มีคุณสมบัติตามมาตรา 36 ยกเว้นเรื่องอายุตาม (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551* โดยจะต้องสำเร็จการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) ไม่ต่ำกว่า 2.50

2.2 ผู้สมัครสอบตามข้อ (1.2) ต้องเป็นเพศชาย อายุระหว่าง 17-22 ปี บริบูรณ์ (นับถึง
วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นวันปิดรับสมัครสอบ) มีร่างกายสมบูรณ์ และต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอฝางหรืออำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบันไม่น้อยกว่า 5 ปี มีคุณสมบัติตามมาตรา 36 ยกเว้นเรื่องอายุตาม (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551* โดยจะต้องสำเร็จการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) ไม่ต่ำกว่า 2.00

2.3 สำหรับพระภิกษุหรือสามเณร ทางราชการไม่รับสมัครสอบ และไม่อาจให้เข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ ทั้งนี้ ตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ นว89/2501 ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2501 และตามความในข้อ 5 ของคำสั่งมหาเถรสมาคม ลงวันที่ 17มีนาคม พ.ศ.2538
 
3. การรับสมัครสอบ
3.1 ผู้ประสงค์สมัครสอบ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ ข่าวประชาสัมพันธ์ ชั้น 1 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาค(เชียงใหม่ ขอนแก่นอุบลราชธานี สงขลา และ ภูเก็ต) สถานีอุตุนิยมวิทยาในจังหวัดต่าง ๆ และเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาที่ www.tmd.go.th (หน้าประกาศข่าวอุตุนิยมวิทยา) พร้อมทั้งสามารถสั่งพิมพ์ใบสมัครและบัตรประจำตัวสอบที่ใช้ในการสมัครสอบได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว
* - รายละเอียดแนบท้ายประกาศ

3.2 ผู้สมัครมีสิทธิ์เลือกสมัครเข้าสอบได้ทั้งประเภท 1.1 และ 1.2 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศรับสมัคร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้สมัครสอบแต่ละคน

3.3 กำหนดวันรับสมัครสอบ และวิธีการยื่นใบสมัครทางไปรษณีย์
กำหนดวันรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 – 22 ตุลาคม 2557
การยื่นใบสมัครสอบ ให้ยื่นใบสมัครสอบทางไปรษณีย์เท่านั้น โดยผู้สมัครสอบจะต้องกรอกรายละเอียดในใบสมัครสอบให้ครบถ้วนและถูกต้อง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อด้วยตนเอง แล้วส่งเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ สำหรับการสมัครสอบพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมสอบ ไปยัง สถาบันอุตุนิยมวิทยากรมอุตุนิยมวิทยา เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 พร้อมทั้งวงเล็บมุมซองว่า “สมัครสอบแข่งขันเข้าเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา” ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2557ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา จะถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับจดหมายของผู้สมัครเป็นสำคัญ ใบสมัคร เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ และค่าธรรมเนียมสอบที่ส่งหลังวันที่ 22 ตุลาคม 2557จะไม่รับสมัคร

3.4 เอกสารหลักฐาน และค่าธรรมเนียมสอบที่จะต้องยื่นพร้อมใบสมัครสอบ
- ใบสมัคร และบัตรประจำตัวสอบ พร้อมติดรูปถ่าย หน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่
สวมแว่นตาสีดำ ขนาด 1½ x 2 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน รวมจำนวน 3 รูป
- ซองเปล่าขนาด 11 ซม. x 22 ซม. พร้อมติดแสตมป์ราคา 3 บาท และจ่าหน้า
ซองถึงตนเอง จำนวน 1 ซอง (สำหรับส่งบัตรประจำตัวสอบ)
- สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน อย่างใดอย่างหนึ่งจำนวน 1 ชุด
- สำเนาแจ้งผลการเรียน (แบบ ร.บ.1) จากสถานศึกษาที่สำเร็จการศึกษาซึ่งมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) ไม่ต่ำกว่า 2.50 สำหรับกรณีที่สมัครประเภท 1.1 บุคคลทั่วไป จำนวน 1 ฉบับ หรือ
- สำเนาแจ้งผลการเรียน (แบบ ร.บ.1) จากสถานศึกษาที่สำเร็จการศึกษาซึ่งมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) ไม่ต่ำกว่า 2.00 สำหรับกรณีที่สมัครประเภท 1.2 บุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุรกันดาร หรือเสี่ยงภัย (อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง หรืออำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่) จำนวน 1 ฉบับ
- ค่าธรรมเนียมไปรษณีย์ธนาณัติ 100 บาท
สำเนาเอกสารและหลักฐานทุกฉบับให้ผู้สมัครรับรองความถูกต้อง พร้อมทั้งลงลายมือชื่อและวันที่กำกับไว้ด้วย

3.5 ค่าธรรมเนียมสอบคนละ 100 บาท (เงินจำนวนนี้ไม่มีการคืนไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น)
โดยให้ผู้สมัครสอบซื้อไปรษณีย์ธนาณัติ (ไม่รับธนาณัติออนไลน์ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น) เป็นค่าธรรมเนียมสอบ 100 บาท สั่งจ่ายปลายทาง ณ ที่ทำการไปรษณีย์คลองบางนา กทม.10262 (เพียงแห่งเดียวเท่านั้น) ชื่อผู้รับเงิน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานคลัง
 
4. เงื่อนไขในการรับสมัครสอบ
4.1 ผู้สมัครสอบจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบตรงตามประกาศรับสมัครสอบจริง หากปรากฏภายหลังว่าผู้สมัครสอบรายใดมีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบไม่ตรงตามประกาศรับสมัคร จะถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น

4.2 เป็นหน้าที่ของผู้สมัครสอบที่จะต้องติดตามประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอบแข่งขันฯ
ในครั้งนี้ ของกรมอุตุนิยมวิทยา และประกาศของคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขัน
 
5. การประกาศชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าสอบ วัน เวลา และสถานที่สอบ
กรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบข้อเขียน ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ณ ชั้น 1 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร และเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาที่ www.tmd.go.th (หน้าประกาศข่าวอุตุนิยมวิทยา)
 
6. วิชาที่สอบ
ก. สอบข้อเขียน มีดังนี้
6.1 คณิตศาสตร์และสถิติ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ขอบเขตเนื้อหาที่ใช้สอบ
คณิตศาสตร์ ตรีโกณมิติ ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม เวกเตอร์ พีชคณิตและเรขาคณิตสถิติการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นอย่างง่าย การทดสอบสมมุติฐานทางสถิติ
6.2 ฟิสิกส์ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ขอบเขตเนื้อหาที่ใช้สอบ
กลศาสตร์ การเคลื่อนที่แบบสั่นแกว่ง ของแข็ง ของเหลว แก๊ส คลื่น แสง เสียง ความร้อนและอุณหพลศาสตร์ ไฟฟ้าสถิต ไฟฟ้ากระแส และแม่เหล็กไฟฟ้า
6.3 ภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) ขอบเขตเนื้อหาที่ใช้สอบ การอ่านเอาความ บทสนทนา และไวยากรณ์
ข. สัมภาษณ์ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ บุคลิกวาจา เชาวน์ และความรู้รอบตัว (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
 
7. เกณฑ์การตัดสิน
7.1 ผู้มีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์ จะต้องสอบข้อเขียนได้คะแนนในแต่ละวิชา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
7.2 ผู้มีสิทธิ์เข้าเรียน จะต้องได้คะแนนรวมทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ในกรณีที่ผู้สอบแข่งขันได้มีคะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ที่มีคะแนนรวมวิชาข้อเขียนมากกว่า เป็นผู้อยู่ในลำดับที่สูงกว่า และหากคะแนนรวมวิชาข้อเขียนเท่ากันอีกจะใช้คะแนนรวมของวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาเทียบกัน
 
8. การประกาศผลสอบและการมารายงานตัวเพื่อทำสัญญา
8.1 การประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ จะประกาศในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ณ ชั้น 1 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร และเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาที่ www.tmd.go.th (หน้าประกาศข่าวอุตุนิยมวิทยา)

8.2 รายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ตามข้อ 8.1 ซึ่งมีคะแนนรวมสูงสุดลงมาตามลำดับ จะได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา โดยประเภทที่ 1.1 บุคคลทั่วไป จำนวน 39 คน และประเภทที่ 1.2 บุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุรกันดารหรือเสี่ยงภัย (อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง หรืออำเภอไชยปราการ จังหวัด
เชียงใหม่) จำนวน 1 คน

8.3 ผู้สอบแข่งขันได้ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา ตามข้อ 8.2
จะต้องมารายงานตัว พร้อมกับทำสัญญาการเข้ารับการศึกษาและสัญญาการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญากับกรมอุตุนิยมวิทยา ตาม วัน เวลา และสถานที่ที่กรมอุตุนิยมวิทยากำหนด ผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามกำหนดจะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์

8.4 กรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยาในข้อ 8.3 สละสิทธิ์ หรือไม่สามารถเข้าเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยาได้ กรมอุตุนิยมวิทยา จะเรียกผู้สอบแข่งขันได้ในลำดับถัดไป เข้าเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยาแทน
 
9. ความผูกพันกับทางราชการ
ผู้สอบแข่งขันได้มอบตัวเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยาแล้ว ต้องมีความผูกพันกับกรมอุตุนิยมวิทยา ดังนี้
9.1 ในระหว่างเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา หากประพฤติผิดร้ายแรงขัดต่อระเบียบแบบแผนและวินัย ซึ่งกำหนดไว้ในคู่มือหรือระเบียบข้อบังคับของกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงขั้นถูกคัดชื่อออกให้พ้นจากสภาพการเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยาแล้ว ผู้นั้นจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นเงิน 30,000.- บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

9.2 ในระหว่างเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา หากมีความจำเป็นขอลาออก (ยกเว้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถเข้ารับการศึกษาได้) นักเรียนผู้นั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นเงิน 30,000.- บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

9.3 ในระหว่างเป็นนักเรียนอุตุนิยมวิทยา หากปรากฏว่าไม่ตั้งใจศึกษา และมีผลการ
เรียนตกต่ำจนถึงขั้นไม่สมควรให้ศึกษาต่อไป (ยกเว้นแต่มีสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตไม่อยู่ในภาวะที่จะสามารถ
ศึกษาได้โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง) และกรมอุตุนิยมวิทยาได้สั่งให้พ้นจากสภาพการเป็นนักเรียน
อุตุนิยมวิทยา ผู้นั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นเงิน 30,000.- บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

9.4 เมื่อศึกษาจบหลักสูตร และทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกใบประกาศนียบัตรให้แล้วจะต้องยินยอมรับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับปฏิบัติงาน ตามที่ทางราชการบรรจุ (ยกเว้นกรณีเสียชีวิต ไปรับราชการทหารตามกฎหมาย หรือทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้) หากไม่ยินยอมรับการบรรจุ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นเงิน 30,000.- บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ในกรณีที่ทางราชการไม่สามารถบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาเข้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญได้ภายในระยะเวลา 12เดือน นับแต่วันที่ได้รับประกาศนียบัตร ให้ถือว่านักเรียนอุตุนิยมวิทยาผู้นั้นพ้นภาระผูกพันกับทางราชการ

9.5 เมื่อได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับปฏิบัติงาน ต้องปฏิบัติราชการในสังกัดกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถ้าออกจากราชการก่อนครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุ (ยกเว้นกรณีเสียชีวิต หรือไปรับราชการทหารตามกฎหมายหรือลาออกไปรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือโอนไปรับราชการหน่วยอื่น) ผู้นั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุตุนิยมวิทยา
ตามส่วนของระยะเวลาที่ได้รับราชการอยู่ในกรมอุตุนิยมวิทยา โดยคิดคำนวณจากจำนวนเงิน 30,000.-บาท(สามหมื่นบาทถ้วน)

9.6 สำหรับผู้สมัครสอบตามข้อ (1.2) เมื่อได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับปฏิบัติงาน สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ (กลุ่มงานตรวจอากาศดอยอ่างขาง) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือกรมอุตุนิยมวิทยา ต้องปฏิบัติราชการในหน่วยงานดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงจะมีสิทธิขอย้ายไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นในสังกัดกรมอุตุนิยมวิทยาได้ นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุ (ยกเว้นกรณีย้ายเพื่อเปลี่ยนสายงาน)

10. เงื่อนไขการบรรจุ
10.1 เมื่อศึกษาจบหลักสูตร และกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศนียบัตรให้แล้วถ้าหากกรมอุตุนิยมวิทยามีตำแหน่งเจ้าพนักงานอุตุนิยมวิทยาระดับปฏิบัติงานว่าง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กรมอุตุนิยมวิทยาจะพิจารณาดำเนินการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งเจ้าพนักงานอุตุนิยมวิทยาระดับปฏิบัติงาน ตามอัตราเงินเดือนที่ ก.พ. กำหนด (เงินเดือน 9,400 – 10,340.-บาท) ค่าครองชีพตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเรียงตามลำดับคะแนนผู้สำเร็จการศึกษาจากคะแนนสูงสุดลงมาตามลำดับ ยกเว้นผู้สมัครสอบแข่งขันได้ตามข้อ (1.2) จะได้รับการบรรจุที่สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ (กลุ่มงานตรวจอากาศดอยอ่างขาง) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ตามเงื่อนไขที่กำหนดทั้งนี้ผู้ที่ไม่ได้รับการบรรจุจะโต้แย้งหรือเรียกร้องหรือฟ้องร้องใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น

10.2 เมื่อได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการ ในตำแหน่งเจ้าพนักงานอุตุนิยมวิทยาระดับปฏิบัติงานแล้ว จะต้องปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยาตามแนวทาง แบบอย่าง ขั้นตอน และวิธีการที่ชัดเจน ของความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่มีการเข้าเวรปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

ดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่นี่

Noppadol Srisakote

อดีตช่างภาพสนาม หรือ "Combat Camera" ที่มีความสนใจเรื่องราวของเทคโนโลยี ข่าวสาร ด้านการทหาร การป้องกันประเทศ และข่าวการรับสมัครสอบทหาร ตำรวจ ผมจะพยายามค้นคว้าหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอทุกคน ขอขอบคุณทุกการติดตามครับ

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ